ด่วน!คลัสเตอร์ยะลา กระจายทั่วภาคใต้-ใครสัมผัสรีบแจ้ง จนท
หมวดหมู่ : ยะลา, ทั่วไป, เศรษฐกิจ,
โฟสเมื่อ : 21 มิ.ย. 2564, 16:00 น. อ่าน : 4,709ยะลา-จังหวัดยะลายอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พุ่งพรวด วันเดียว 74 ราย สถิติสูงสุด และผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ใหญ่ยะลาแพร่กระจายไปทั่วภาคใต้แล้ว จนท.แจ้งให้ผู้สัมผัสกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ รีบรายงานตัวกับ จนท.ในแต่ละจังหวัด เพื่อตรวจคัดกรองเชื้อและกักตัวด่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในภาคใต้ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของ สนง.สาธารณสุข จ.ยะลา วันที่ 21 มิ.ย.2564 ระบุว่า จ.ยะลา ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น รวมจำนวน 74 ราย นับเป็นสถิติสูงสุดจากห้วงที่ผ่านมา โดยพบผู้ติดเชิ้อมากที่สุดที่ อ.เบตง จำนวน 39 ราย รองลงมาในพื้นที่ อ.เมือง จำนวน 18 ราย อ.กรงปินัง จำนวน 6 ราย อ.ยะหา 5 ราย อ.รามัน 4 ราย และ อ.ธารโต 2 ราย สาเหตุหลักมาจากคลัสเตอร์ศูนย์มัรกัส(ศูนย์ดะวะห์แห่งประเทศไทย) ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านเปาะยานิ หมู่ 3 ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา มีนักเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาในศูนย์ฯเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้เชื้อแพร่กระจายไปทั่วจังหวัดและลามไปถึงภูมิภาคใกล้เคียงที่เป็นภูมิลำเนาของนักเรียน มีรายงานว่า คลัสเตอร์แห่งนี้ พบเชื้อในภาคใต้รวมจำนวน 12 จังหวัด มีผู้ติดเชื้อรวม 190 รายและเป็นเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาทั้งหมด สำหรับ จ.ยะลา มียอดโดยรวม สะสมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 875 ราย ส่วนเสียชีวิต 6 รายเท่าเดิม
จากจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดใน อ.เบตง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผวจ.ยะลา/ประธานกรรมการโรคติดต่อ จ.ยะลา/ผกก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จ.ยะลา จำเป็นต้องออกคำสั่งศูนย์ฯติดตามมา 2 ฉบับในกรณีดังกล่าว คือคำสั่งที่ 113/2564 ลงวันที่ 20 มิ.ย.2564 ห้ามบุคคลเข้าออกสถานที่ศูนย์มัรกัส(ฮัลเกาะห์)ประจำ อ.เบตง เป็นการชั่วคราว เว้นแต่ผู้มีหน้าที่ดูแลไม่เกิน 5 คน หากเปลี่ยนแปลงบุคคลผู้ดูแลจะต้องแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ และให้บุคคลที่ทำกิจกรรมทางศาสนาภายในศูนย์มัรกัส(ฮัลเกาะห์) ดังกล่าวทุกคนไปเข้าสู่กระบวนการคัดกรองบุคคลตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ส่วนคำสั่งที่ 114/2564 ลงวันที่เดียวกัน สั่งห้ามมิให้ผู้ใดเข้าออกพื้นที่ชุมชน จำนวน 2 ชุมชน อ.เบตงตามท้ายคำสั่งคือ ชุมชน”กือติง” และ ชุมชน”กุนุงจนอง” หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ลงนามในคำสั่งเป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และมีรายงานว่าในห้วงที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอเบตง ได้นำรถพร้อมติดเครื่องขยายเสียงขับไปตระเวนในชุมชนที่ถูกสั่งปิดข้างต้น ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบว่า พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสมปฏิสัมพันธ์กับสถานการณ์ รับร้องทุกข์ รับประสานหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ที่ถูกกักในพื้นที่ พร้อมแจ้งความจำเป็นในการกำหนดพื้นที่ชุมชนตามคำสั่ง คือสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
วันเดียวกัน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้ไปตรวจเยี่ยมจุดคัดกรองเชิงรุกโควิด-19 แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่ำ ที่บ้านกำปงบารู หมู่ 2 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง รองจากกลุ่มเสี่ยงสูงที่ตรวจคัดกรองไปแล้วในห้วงที่ผ่านมา จำนวน 744 ราย พบผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 36 ราย ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงต่ำที่เข้ารับการตรวจคัดกรองวันนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 500 คน สำหรับ ต.อัยเยอร์เวง เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวพิเศษที่ ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้เป็นเมืองท่องเที่ยว สร้างอาชีพและรายได้แก่คนในพื้นที่
เลขาธิการ ศอ.บต. เผยว่า ผู้ติดเชื้อ ขณะนี้ถือว่ามีจำนวนไม่สูงนัก จึงขอให้พี่น้องประชาชนร่วมกันเฝ้าระวังทั้งตนเองและพี่น้องในชุมชน ไม่รวมตัวและทำกิจกรรมใดๆ ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 เพื่อให้อัยเยอร์เวงกลับมาปลอดภัยไร้โรค และสามารถเปิดการท่องเที่ยวเมื่อพร้อมได้อีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลนำโดยนายกรัฐมนตรี ต้องการให้เมืองท่องเที่ยวเบตงเเละทั่วประเทศเปิดให้ได้เร็วที่สุด หวังว่าจะสามารถเปิดได้เร็วๆ นี้ เพราะความร่วมมือเป็นอย่างดีของพี่น้องประชาชนและความร่วมมือของทุกหน่วยงาน อย่างไรก็ตามภายหลังเปิดการท่องเที่ยวแล้ว คาดว่า มาตรการต่างๆในการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ก็ยังต้องทำต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว โดยจะมีการประชุมหารือกำหนดแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวครบวงจรใน อ.เบตง อีกครั้งเร็วๆ นี้ เพื่อวางแผนการท่องเที่ยวเบตง ให้มีความยั่งยืนในทุกพื้นที่อีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สื่อโซเชี่ยลฯได้รายงาน กรณีมีญาติถูกกักตัวที่ศูนย์ อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งเป็นศูนย์บำบัดยาเสพติดนใน ต.ปะแต ได้โพสต์แฉสภาพที่กักตัวว่า เก่า ทรุดโทรมเหมือนถูกทิ้งร้าง ที่นอน-หมอน สกปรกมีเชื้อรา ประตูชำรุดใช้ไม่ได้ ไฟฟ้าเสีย ห้องน้ำชาย-หญิงอยู่ติดกัน ไม่น่าไว้วางใจ มีสภาพบ้านโล่งๆ เล็ก ๆ 1 หลัง ภายในไม่มีเฟอร์นิเจอร์ มีเพียงพัดลมเพดาน 1 ตัว เก่ามาก มีหมอนและฟูกที่นอนเก่า สกปรก ไม่มีผ้าปู ผ้าห่ม เจ้าหน้าที่ในศูนย์ฯ แจ้งว่าต้องนำเครื่องใช้มาเอง ติดต่อญาติก็ไม่สามารถช่วยได้ เพราะถูกหมู่บ้านถูกสั่งปิด ถูกกักตัว
กรณีดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสอบถามนายสุชาติ อนันตะ รองสาธารณสุขจังหวัดยะลา ได้รับแจ้งว่า ยังไม่ทราบเรื่องข้างต้นที่โพสต์กันในสื่อออนไลน์ จะได้ตรวจสอบกับทางสาธารณสุขอำเภอยะหา เพื่อดำเนินการช่วยเหลือต่อไป.