ส่อง “บุษราคัม” รพ.สนามดิจิทัล สู้โควิด-19 เพิ่มขีดความสามารถรักษาผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ
หมวดหมู่ : ไลฟ์สไตล์-บันเทิง, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 30 มิ.ย. 2564, 00:35 น. อ่าน : 2,369 ไม่ใช่แค่
รพ.สนามใหญ่ที่สุดในไทย . . . แต่ยังสร้างเสร็จใน 7 วัน
สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงต้องจับตามอง โดยเฉพาะรายงานยอดผู้ติดเชื้อ 10 จังหวัดสูงสุด ซึ่งกรุงเทพมหานครยังเป็นอันดับ 1
ด้วยยอดผู้ติดเชื้อใหม่ 1,356 ราย ยอดสะสม 41,573 ราย (ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564) ในขณะที่ภาครัฐกำลังเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน พร้อมกับให้ความสำคัญในการรณรงค์ สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง
หมั่นล้างมือ
แน่นอนว่า เมื่อจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลพร้อมทั้งทีมแพทย์และพยาบาลมีจำนวนอยู่เท่าเดิม ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเร่งหาทางรับมือ รวมทั้งทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อผ่านพ้นวิกฤติโรคอุบัติใหม่ในครั้งนี้ไปด้วยกัน
พญ.ปฐมพร
ศิรประภาศิริ หรือ “คุณหมอเปเปอร์” ที่ปรึกษากระทรวง หรือโดยตำแหน่งคือนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ
ด้านเวชกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
เผยถึงที่มาของการวางแผนรับมือสถานการณ์ผู้ป่วยโดยการสร้างโรงพยาบาลบุษราคัมซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่อาคารชาเลนเจอร์
อิมแพค เมืองทองธานี พื้นที่มากกว่า 100,000
ตารางเมตร รองรับผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
“จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล มอบหมายให้ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิตดำเนินการเปิดโรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลุ่มที่มีอาการปานกลางหรือกลุ่มสีเหลืองให้ได้ เพื่อทำการรักษาไม่ให้เปลี่ยนเป็นผู้ป่วยวิกฤตหรือกลุ่มสีแดง ซึ่งจำนวนโรงพยาบาลที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอ ดังนั้น เราจึงต้องสร้างโรงพยาบาลสนามขึ้นมาเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นและสู้ไปด้วยกัน โดยมี นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ เป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาลบุษราคัม”
โรงพยาบาลบุษราคัมได้ถูกสร้างขึ้นที่อาคารชาเลนเจอร์
ฮอลล์ 3 ก่อนเป็นแห่งแรก ด้วยจำนวน 1,083 เตียงในเวลาเพียง 7 วัน และ ฮอลล์ 1 ถูกสร้างถอดแบบ (mirror) ตามออกมาด้วยจำนวน 1,078 เตียงภายใน 5 วัน ซึ่งแบ่งเป็นหอป่วยหญิงและชายแยกกัน โดยทั้งสองแห่งมีห้องความดันลบ (Negative
pressure room) และออกซิเจนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย
ที่ผ่านการวางระบบใหม่ทั้งหมด
ด้วยการต่อท่อออกซิเจนเข้ามาจากด้านหลังฮอลล์มาถึงเตียงผู้ป่วย โดยในฮออล์แบ่งเป็น
4 โซน และ 1 ใน 4
มีออกซิเจนให้ทุกเตียงพร้อม
ที่สำคัญทุกรายละเอียดไม่ได้ถูกมองข้าม
แม้แต่ห้องอาบน้ำยังถูกสร้างขึ้นใหม่ด้านหลังฮออล์ จำนวน 100 ห้อง แบ่งชายหญิง พร้อมวางระบบกำจัดน้ำเสียตามมาตรฐาน
ซึ่งน้ำที่ใช้แล้วจากโรงพยาบาลบุษราคัมจะไหลไปจุดศูนย์กลางพร้อมทั้งผ่านระบบบำบัด
ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางด้วยบ่อบำบัดขนาดใหญ่ พร้อมทั้งระบบกำจัดขยะ
ทั้งหมดนี้คือการบูรณาการจากทีมงานกระทรวงสาธารณสุข
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
พร้อมทั้งกองพลทหารพัฒนานำจิตอาสามาช่วยติดตั้งเตียงกระดาษซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชน
กสทช. ให้การสนับสนุนระบบสารสนเทศ และหน่วยงานเอกชนที่พร้อมใจกันเป็นหนึ่งเดียว
ก้าวแรกสู่ดิจิทัลวางระบบโรงพยาบาลสนามรับมือโรคอุบัติใหม่
เมื่อระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของโรงพยาบาลพร้อม
ปัจจัยสำคัญต่อไปคือการวางระบบให้เป็นโรงพยาบาลสนามด้วยแนวคิดโรงพยาบาลดิจิทัล (Digital
hospital) เพราะโควิด-19
เป็นโรคติดเชื้อที่ระบาดได้ในระบบทางเดินหายใจ
ทำให้เป็นอุปสรรคในการที่แพทย์จะเข้าไปพบผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบการจัดการคอมพิวเตอร์จึงถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ แพทย์ และพยาบาลต้องสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยและเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์พื้นฐานได้ตลอดเวลา เช่น ข้อมูลผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ และอาการต่อเนื่องจากการรักษา ทั้งหมดนี้จะเป็นระบบดิจิทัลผ่านคอมพิวเตอร์แทนการใช้กระดาษ รวมถึงการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลตรวจติดตามผู้ป่วย การวัดสัญญาณชีพ (vital sign) แบบอัตโนมัติติดที่ตัวคนไข้ แล้วรายงานผ่านจอได้เรียลไทม์ การวัดความดันโลหิต อุณหภูมิ และอัตราการเต้นของหัวใจ โดยอัตโนมัติ และเวชระเบียนการจ่ายยาแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการนำหุ่นยนต์มาใช้งานเพื่อส่งยาให้ผู้ป่วย
คุณหมอเปเปอร์เล่าให้ฟังต่อไปว่า
“เมื่อตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อจากการสวอบ (swab) ตามมาตรฐานจากโรงพยาบาลต่างๆ
ทีมเจ้าหน้าที่สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
ศูนย์บริหารจัดการเตียง กรมการแพทย์ 1668 ศูนย์เอราวัณ 1669 และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1330
จะคีย์ข้อมูลผู้ป่วยที่มีผลโพสิทีฟ (positive) เข้ามาในระบบอิเล็กทรอนิกส์
หน่วยงานต่างๆ จะช่วยกันจัดหาเตียงให้คนไข้
ส่วนหนึ่งจะถูกส่งมายังโรงพยาบาลบุษราคัม ด้วยระบบ Co-Link ซึ่งพัฒนาโดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ
(Government Big Data Institute: GBDi) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
และระบบ Co-bed ซึ่งเป็นระบบบริหารเตียงผู้ป่วยจำนวนมาก
ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบุษราคัมจะตรวจสอบความพร้อมผู้ป่วยและประสานไปที่หน่วยรถรับส่งจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
(สพฉ.)
และจะเข้าสู่กระบวนการนำคนไข้เข้าสู่โรงพยาบาลบุษราคัมซึ่งจะรองรับผู้ป่วยกลุ่มเตียงสีเหลืองเป็นหลัก
กล่าวคือ ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย-ปานกลางที่ยังช่วยตัวเองได้”
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ระบบการจัดการและระบบสื่อสารดิจิทัลมาใช้ในโรงพยาบาลสนามเป็นผลสำเร็จ
รวมทั้งการเชื่อมทุกสิ่งสำคัญในทุกเวลาคือ “อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง”
พร้อมทั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน
สัญญาณอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อชีวิตพิชิตโควิด-19
นายประเทศ
ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส
คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า
“ดีแทคได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และ กสทช.
โดยดีแทคมุ่งมั่นต่อภารกิจสำคัญยิ่งในโรงพยาบาลบุษราคัมด้วยการนำดิจิทัลและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับ
แพทย์ พยาบาล รวมทั้งเพื่อผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้
ดีแทคได้ร่วมผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อที่จะก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกันด้วยการบูรณาการทั้งภาครัฐและหน่วยงานเอกชนต่างๆ เพื่อทุกคน”
นอกจากดีแทคได้วางระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
การใช้งานดีแทค Wi-Fi ทุกจุดผ่าน Access
point แล้ว ดีแทคยังได้นำโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน กล้อง CCTV
และ dtac@Home หรือ Fixed Wireless
Broadband ซึ่งเป็นอุปกรณ์ติดตั้งง่ายทุกที่ไม่ต้องเดินสาย
สำหรับนำไปใช้งานที่โรงพยาบาลบุษราคัม และหอพยาบาล
สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
ทีมแพทย์จะใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ ทำการรักษาผ่านระบบแพทย์ทางไกล (telemedicine) มีการรีโมทเข้ามารักษา หรือการให้ข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน LINE พร้อมทั้งมีการจัดพยาบาลที่เข้าไปติดตามดูแลผู้ป่วย
เทคโนโลยีดิจิทัลสู่การนำผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็วขึ้น
คุณหมอเปเปอร์เล่าส่งท้ายถึงภาพรวมผู้ป่วยว่า
“การเข้ามารักษาตัวที่นี่ คือ จากวันที่พบเชื้อ 14
วัน แต่ยกเว้นบางคนที่โอนย้ายมาจากที่โรงพยาบาลอื่นจากกลุ่มเตียงสีแดง
เมื่ออาการดีขึ้นจะย้ายมาที่นี่เพื่อให้ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มสีแดงท่านอื่นที่ต้องการรักษาได้มีเตียงพอเพียง
ซึ่งผู้ป่วยที่โอนย้ายมาจากที่อื่น อาจจะมาอยู่ต่อที่ รพ.บุษราคัมอีก 3-5 วัน แล้วกลับบ้าน เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็วขึ้น
และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาของโรงพยาบาลบุษราคัม”
การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจสิ้นสุดในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า แต่ยังไม่มีใครจะคาดการณ์ได้แน่นอน แต่ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนและปรับตัวในการตอบสนองความท้าทายและผลกระทบต่างๆ จากโควิด-19 อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ จะทำให้ผ่านข้ามวิกฤตไปด้วยกัน.