เลือก อบจ.เงินสะพัด! ห้าม รมต.-ส.ส.ช่วยหาเสียง กระแสใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ
หมวดหมู่ : การเมือง, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 1 พ.ย. 2563, 13:00 น. อ่าน : 3,220 บรรยากาศการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) เริ่มคึกคัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ได้ประกาศกำหนดเปิดรับสมัครการเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 2-6 พฤศจิกายน 2563
และเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 ส่วนว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. และ ส.อบจ.ในหลายจังหวัด
ซึ่งก่อนหน้านี้มีการประกาศตัวจะลงสมัครและลงพื้นที่หาเสียงอย่างสม่ำเสมอ
แต่ระยะเวลาในการรอการประกาศเลือกตั้งยาวนาน ประกอบกับเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19
แพร่ระบาด ทำให้ว่าที่ผู้สมัครหลายคนถึงกับถอดใจโบกมือลาไม่ลงสมัคร
เนื่องจากเสียค่าใช้จ่ายในการออกหาเสียงไปจำนวนมาก
และหลายจังหวัดมีผู้สมัครสายแข็งลงสมัครกันอย่างเอาจริงเอาจัง
ทำให้ว่าที่ผู้สมัครหน้าใหม่ต้องกลับมาประเมินสถานการณ์ของตัวเอง
เมื่อเห็นว่าคงสู้ไม่ได้จึงโบกมือลา นอกจากนี้ยังมีหลายจังหวัดที่มีการจับมือฮั้วกันในสนามการเมือง
ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม
นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. ที่ดูแลด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์
เกี่ยวกับรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ.ที่จะมีขึ้น
นายแสวง อธิบายว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้ประกาศ ออกระเบียบ
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกและนายก อบจ.
โดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
ส่วนการประกาศผลเลือกตั้ง หลังจากนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ผอ.การเลือกตั้งประจำ
อบจ. จะรวบรวมคะแนนแล้วรายงานให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
ส่งให้สำนักงาน กกต.ประกาศผลกรณีไม่มีผู้ร้องเรียน ภายในวันที่ 19 มกราคม 2564
“พูดให้เข้าใจง่าย
สำนักงาน กกต.ทำหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและบริสุทธิ์ยุติธรรม
มี ผอ.กกต.ประจำจังหวัด คอยกำกับในพื้นที่แต่ละจังหวัด
ส่วนการจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด
การเลือกตั้งมีการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งและนำมารวมที่ อบจ. และปลัด อบจ.นำส่ง
ผอ.กกต.ประจำจังหวัด เพื่อนำส่งสำนักงาน กกต. ประกาศผลรับรองการเลือกตั้ง หากจังหวัดใดหรือหน่วยเลือกตั้งใดไม่มีปัญหา”
นายแสวง
เปิดเผยอีกว่า การเลือกตั้ง อบจ. และ ส.อบจ. ครั้งใหม่นี้ มีกฎหมายออกมาใหม่
บางส่วนแตกต่างไปจากที่เคยมีมา ซึ่งต้องทำความเข้าใจกัน อาทิ
พรรคการเมืองส่งผู้สมัครได้ แต่รัฐมนตรีและ ส.ส.ของพรรค จะไปช่วยผู้สมัครหาเสียงไม่ได้ผิดกฎหมาย
เนื่องจากให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัคร ต้องห้ามตามกฎหมาย
สำหรับรายละเอียดกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งแต่ละจังหวัดจะไม่เท่ากัน
แต่ละจังหวัดจะกำหนดตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ผู้ช่วยหาเสียงก็ต้องมีการแต่งตั้งให้ชัดเจน
ภรรยาและบุตรถือเป็นบุคคลเดียวกับผู้สมัคร พ่อแม่พี่น้องและญาติ
รวมทั้งผู้สนับสนุนที่มาช่วยหาเสียง ก็ต้องแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้ถูกต้อง
เพื่อจะได้คำนวณค่าใช้จ่ายได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
ในส่วนของการตั้งเวทีหาเสียงก็ต้องขออนุญาตเป็นครั้งๆ ไป
แต่จะใช้รถหาเสียงเป็นเวทีเคลื่อนที่ได้ ซึ่งรายละเอียดตามกฎหมายใหม่ผู้สมัครต้องศึกษากันให้เข้าใจ
เพื่อจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องและไม่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ส่วนสนามการเมืองในแต่ละจังหวัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลายจังหวัดบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
หลายจังหวัดมีการประกาศตัวของทีมเก่าและทีมใหม่ที่จะชิงชัยกันอย่างชนิดถึงพริกถึงขิง
ขณะเดียวกันเป็นที่คาดหมายว่า การใช้จ่ายด้านต่างๆ ในการหาเสียงเลือกตั้ง
ตั้งแต่การทำใบปลิว โปสเตอร์ แบนเนอร์ และป้ายหาเสียง รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ
จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดในระดับรากหญ้าได้กระเตื้องขึ้นด้วย.