ผวาขยะติดเชื้อโควิด-19 อปท.นครศรีฯ จับมือเครือข่าย สร้างเตาเผาประสิทธิภาพสูง
หมวดหมู่ : นครศรีธรรมราช, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 25 ส.ค. 2564, 14:00 น. อ่าน : 2,326นครศรีธรรมราช-ผวาขยะติดเชื้อโควิด-19 เทศบาลตำบลนาสาร อ.พระพรหม จับมือท้องถิ่นเครือข่าย อปท. หารือเตรียมสร้างเตาเผาขยะไร้มลพิษกำจัดขยะติดเชื้อ โครงการจัดการขยะชุมชนแบบยั่งยืน เชิญบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนำเตาเผาขยะแบบเคลื่อนที่สาธิตให้ชมอย่างใกล้ชิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2564 ที่อาคารเทศบาลตำบลนาสาร อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช นายพยงค์ สงวนถ้อย นายกเทศมนตรีตำบลนาสาร พร้อมด้วยนายแพทย์ พิศาล ถาวรวงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระพรหม ผู้แทนจากสำนัก/กอง/ฝ่าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอพระพรหม และอำเภอใกล้เคียง ร่วมรับชมการสาธิตกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้อและขยะมูลฝอย ซึ่งบริษัท กรีนเชฟ 2020 จำกัด ได้นำโมบายเคลื่อนที่มาเปิดสาธิตถึงกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้อและขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในชุมชน ตามโครงการจัดการขยะชุมชนแบบยั่งยืน เตาเผาขยะไร้มลพิษระบบใหม่
นายพยงค์ สงวนถ้อย นายกเทศมนตรีตำบลนาสาร กล่าวว่า การจัดโครงการจัดการขยะชุมชนแบบยั่งยืน เป็นแนวคิดในการบริหารจัดการขยะ และการกำจัดขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งในแต่ละครัวเรือนมีขยะติดเชื้อ ขยะปนเปื้อน ทั้งหน้ากากอนามัย และสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ชุมชนและสังคม ทั้งนี้ในแต่ละวันทางเทศบาลตำบลนาสารจะมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะเฉลี่ย 1 แสนบาท/เดือน โดยแนวคิดดังกล่าวได้รับการตอบรับจากท้องถิ่นต่างๆ จึงได้ให้ผู้เชี่ยวชาญมานำเสนอในขั้นตอนกระบวนการกำจัดขยะดังกล่าว เพื่อประกอบในการคิดหาแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ต่อไป
“ในอำเภอพระพรหม มี 4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งแต่หากละท้องถิ่นจะจัดซื้อขนาดกลางหรือขนาดใหญ่แห่งละ 1 เตา คงจะลำบากเพราะงบประมาณจำกัด จึงควรจะร่วมกันจัดซื้อ 2 แห่งต่อ 1 เตาเผาขยะ ก็น่าจะพียงพอกับการรอรับขยะ และขยะติดเชื้อทั้งอำเภอได้ หลังจากนี้ตนและผู้บริหาร หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบว่า ถึงเวลาที่ในแต่ละท้องถิ่นจะมีเตาเผาขยะแล้วหรือยัง มีความสำคัญและจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เพื่อจัดซื้อเตาเผาขยะมาเผาขยะกำจัดขยะติดเชื้อต่อไป ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ทั้งจังหวัดจะพิจารณาดำเนินการจัดซื้อหรือไม่ ก็คงแล้วแต่ผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันพิจารณาตัดสินใจ” นายพยงค์กล่าว
ขณะที่นายแพทย์ พิศาล ถาวรวงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระพรหม กล่าวว่าโรงพยาบาลพระพรหม ได้เปิดเป็นโรงพยาบาลสนามในลำดับต้นๆ ของจังหวัดที่ได้เปิดรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งยังมีภารกิจในการตรวจดูแลรักษาผู้ป่วยทั่วไปด้วย โดยในแต่ละวันจะมีปริมาณขยะติดเชื้อและขยะที่ต้องกำจัดเฉลี่ย 100 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งในส่วนของขยะติดเชื้อจะส่งไปกำจัดตามกระบวนการ ณ โรงกำจัดขยะมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในอัตรากิโลกรัมละ 20 บาท
สำหรับการนำเสนอกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้อและขยะจากชุมชน ของบริษัทกรีนเชฟ 2020 จำกัด ในครั้งนี้มีนายประมุข เวชสกล ผู้บริหารโรงงานกรีนเชฟ 2020 จำกัด พร้อมพนักงานเจ้าหน้าที่ของบริษัทๆ ได้นำเตาเผาขยะเคลื่อนที่มาสาธิตถึงกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้อและขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในชุมชน ท่ามกลางความสนใจของผู้ที่ร่วมชมการสาธิตจำนวนมาก
นายประมุข เวชสกล กล่าวว่า โครงการจัดการขยะชุมชนแบบยั่งยืน มีวิธีการใช้งานเตาเผา คือ ปิดประตูเตาเผาชั้นล่าง และเปิดช่องลมให้สุด ใช้ขยะแห้ง เช่น เศษไม้ กระดาษ พลาสติกแห้ง ในการจุดสตาร์ทอุ่นเตาจะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ปิดช่องลมของประตูชั้นล่าง และทำการทยอยเติมขยะแห้งหรือขยะที่มีความชื้นไม่เกิน 10 % จนเตาสะสมอุณหภูมิประมาณ 800-900 องศา จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และทำการเติมขยะตามปกติโดยมีความชื้นของขยะไม่เกิน 40% อย่างต่อเนื่องให้อยู่ในช่วงระหว่างปากของตะแกรงจะทำให้ระบบของเตาทำงานอย่างสมบูรณ์ตลอดการเผา โดยจะทำการเผาระบบการกำจัดควันและมลพิษ ที่จะออกมาจากเตาเผา ซึ่งสังเกตได้จากปลายปล่องจะไม่มีควันออกและเปลวไฟสะอาดไม่มีควันเขม่าปนออกมาเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเตาเผาขยะของบริษัท กรีนเชฟ 2020 จำกัด ผลิตออกมาจำหน่าย 3 ขนาดขนาดเล็กยราคาแค่ 300,000 บาท กำจัดขยะ ขยะติดเชื้อได้ 1 ตัน/วัน (8 ชม.) ขนาดกลาง ราคา 4 ล้านบาทเศษ กำจัดขยะ ขยะติดเชื้อได้ 6-8 ตัน/วัน (8 ชม.) และขนาดใหญ่กำจัดขยะชุมชน ขยะทั่วไป และขยะติดเชื้อได้ 10-12 ตัน/วัน(8 ชม.) โดยขนาดกลางและขนาดใหญ่จะมีระบบสายพานลำเลียงขยะเข้าสู่เตาเผาได้เอง โดยไม่ต้องใช้แรงงานคน .