เกษตรภาคใต้ เร่งส่งมอบต้นพันธุ์ไม้สร้างความมั่นคงทางอาหาร ผ่านโครงการบ้านพอเพียงเลี้ยงชีวิตสู้โควิด-19
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, ภาคใต้,
โฟสเมื่อ : 1 ก.ค. 2563, 18:21 น. อ่าน : 2,081สงขลา - กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทำ “โครงการบ้านพอเพียงเลี้ยงชีวิตสู้โควิด-19” ผนึกกำลังหน่วยงานในสังกัดสร้างความมั่นคงทางอาหาร บรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 โดยสนับสนุนต้นพันธุ์พืชผักและสมุนไพร จำนวน 7 ชนิด รวมทั้งสิ้น 3,634,464 ต้น แก่เกษตรกรทั่วประเทศ มีพืชอาหารบริโภคสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสำหรับวิกฤตในครั้งนี้พบปัญหาการกระจายสินค้าและความมั่นคงทางอาหารเพื่อการบริโภคในระดับครัวเรือน ทำให้เกิดการกักตุนสินค้าเพื่อการบริโภคอุปโภคตามมาเป็นปัญหาต่อเนื่อง กรมส่งเสริมการเกษตร ได้น้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร มีแหล่งอาหารภายในชุมชน มีความมั่นคงทางอาหาร เพื่อเป็นการสร้างรากฐานภาคเกษตรให้เข้มแข็งและนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดทำ “โครงการบ้านพอเพียงเลี้ยงชีวิตสู้โควิด-19”
โครงการบ้านพอเพียงเลี้ยงชีวิต สู้โควิด-19 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีพืชอาหารและพืชสมุนไพรสำหรับการบริโภคภายในชุมชน ดำเนินการผลิตต้นพันธุ์พืชผักสมุนไพร รวมทั้งสิ้น 3,634,464 ต้น และเพื่อถ่ายทอดความรู้การปลูกพืชผักและสมุนไพรให้กับเกษตรกรและผู้สนใจ ต้นพันธุ์พืชผักและสมุนไพร จำนวน 7 ชนิด รวมทั้งสิ้น 3,634,464 ต้น แบ่งเป็นพืชผักและสมุนไพรหลัก จำนวน 4 ชนิด รวม 2,271,540 ต้น ได้แก่ ฟ้าทลายโจร มะละกอ พริก และมะเขือ และพืชผัก และสมุนไพรเสริม จำนวน 3 ชนิด รวม 1,362,924 ต้น ได้แก่ มะรุม ผักหวานบ้าน และแคบ้าน โดยมอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 34 หน่วยงาน จัดส่งต้นพันธุ์ที่พร้อมปลูกให้กับสำนักงานเกษตรอำเภอ จำนวน 882 อำเภอ โดยสำนักงานเกษตรอำเภอเป็นผู้กำหนดสถานที่รับพันธุ์พืช จำนวน 1 จุด/อำเภอ หลังจากนั้นอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ร่วมกับ คณะกรรมการหมู่บ้าน จะคัดเลือกเกษตรกรที่มีคุณสมบัติและความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 225,390 ครัวเรือน โดยสำนักงานเกษตรอำเภอ จะส่งมอบต้นพันธุ์พืชที่พร้อมปลูกให้กับอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เพื่อแจกจ่ายและกระจายต้นพันธุ์พืชผักสมุนไพรสนับสนุนให้กับเกษตรกร และผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
ในส่วนของภาคใต้มีการมอบหมายให้ ศูนย์ขยายพันธุ์พืช จำนวน 2 ศูนย์ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จำนวน 3 ศูนย์ ดำนินการผลิตต้นพันธ์กล้าพืชผัก พืชสมุนไพร เป้าหมาย จำนวน 331,328 ต้น ขณะนี้ศูนย์ปฏิบัติการทั้ง 5 ศูนย์ ได้มีการส่งมอบต้นพันธ์กล้าแล้ว และคาดว่าจะส่งมอบได้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 นี้ นอกจากแจกจ่ายต้นพันธุ์พืชผักสมุนไพรสนับสนุนให้กับเกษตรกรแล้วได้ดำเนินการจัดทำจุดเรียนรู้การปลูกพืชผักและสมุนไพรในครัวเรือน เพื่อเป็นต้นแบบบริเวณสำนักงานเกษตรอำเภอหรือ สถานที่ที่มีความเหมาะสม อำเภอละ 1 จุด ซึ่งสามารถพัฒนาให้เป็น “ศูนย์พันธุ์พืชชุมชน” ได้ในอนาคตเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการศึกษาเรียนรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป.