สสจ.แนะคนมีโรคประจำตัว ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19
หมวดหมู่ : ยะลา,
โฟสเมื่อ : 6 มิ.ย. 2564, 13:27 น. อ่าน : 3,839ยะลา-นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ให้คำแนะนำการเตรียมตัวฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และอาการข้างเคียง หากมีโรคประจำตัวและกินยาประจำควรปรึกษาแพทย์ก่อน รวมทั้งมีอาการไข้ หรือหญิงครรภ์ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ดื่มน้ำมากๆ และงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนด่อยฉีด
น.พ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ได้ให้ข้อแนะนำในการเตรียมตัว เตรียมสุขภาพ เพื่อให้การรับวัคซีนได้ประโยชน์สูงสุด และป้องกันหรือลดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวว่า หากมียาประจำที่ต้องรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน และก่อนฉีดวัคซีนพักผ่อนให้เพียงพอ ทำใจสบายๆ หากเจ็บป่วย มีไข้ ไม่สบาย ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ดื่มน้ำและงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารมาให้เรียบร้อย หากมียารักษาโรคประจำตัวก็ให้รับประทานได้เลย ถ้าใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือด กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ ณ จุดลงทะเบียน
กรณีตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ การฉีดวัคซีน COVID-19 ต้องห่างจากการฉีดวัคซีนอื่น 4 สัปดาห์ และเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ในการเข้ารับการฉีดวัคซีนให้พร้อม เช่น บัตรประชาชน ข้อมูลการลงทะเบียน เพื่อความสะดวกรวดเร็ว เดินทางไปถึงสถานที่ฉัดก่อนเวลานัด 30 นาที ใส่เสื้อผ้าหลวมสบายเปิดหัวไหล่สะดวก ง่ายต่อการฉีดวัคซีน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือให้สะอาด และเว้นระยะห่าง แนะนำให้ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด งดใช้หรือเกร็งแขนข้างที่ฉีด ปฏิบัติตามคำแนะของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
นายแพทย์ สสจ.ยะลา กล่าวด้วยว่า “วัคซีนป้องกัน COVID-19 ก็เหมือนกับวัคซีนอื่นๆ ที่ไม่ได้ให้ผลในการป้องกัน 100% โดยประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 60-90% (ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนและการตอบสนองของแต่ละบุคคล) แต่คุณสมบัติสำคัญของวัคซีน COVID-19 ทุกตัวสามารถลดความรุนแรงของการป่วยหลังการติดเชื้อและการเสียชีวิตได้เกือบ 100% ซึ่งจะทำให้การต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการสูญเสียชีวิตลดลงได้อย่างมาก และแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันต่อไปอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เรากลายเป็นผู้แพร่เชื้อแบบไม่มีอาการ ที่อาจจะเป็นต้นเหตุให้ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจากเราได้”.