“มะละกอ” เจอพิษโควิด-19 ล้นตลาดขายไม่ออก เกษตรกรพัทลุงร้องให้ช่วยด่วน
หมวดหมู่ : พัทลุง, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 3 มิ.ย. 2563, 12:27 น. อ่าน : 4,033 วิฤตโควิด-19
กระทบเกษตรกรพัทลุง ร้องรองแม่ทัพภาคที่ 4 เร่งแก้ไขปัญหามะละกอล้นตลาดและต้องทิ้งให้เน่าเปื่อย
เนื่องจากโรงงานงดรับซื้อเพราะไม่มีคนสั่ง ด้าน ผวจ.พัทลุงทราบเรื่องเรียกประชุมแก้ปัญหาด่วน
พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์
รองแม่ทัพภาคที่ 4 ได้มอบหมายให้
พ.อ.พิชิต โชติแก้ว รอง ผอ.รมน.จังหวัดพัทลุง นายบรมัตถ์พงษ์ พลเยี่ยม
พาณิชย์จังหวัดพัทลุง และคณะ
ลงพื้นที่ติดตามความเดือดร้อนของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะละกอจังหวัดพัทลุง ท้องที่หมู่ที่
8 ต.เกาะเต่า อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง เมื่อเช้าวันที่ 2 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา
ตามที่ได้รับการร้องเรียนว่าผลผลิตล้นตลาดขายไม่ได้ โดยมี นายศรชัย เส้นตรัง
สจ.พัทลุง เขต อ.ป่าพยอม และคณะ ร่วมให้การต้อนรับ
ทั้งนี้เนื่องจากช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สมาชิกของกลุ่มเกษตรกรดังกล่าวที่มีผลผลิตของมะละกอทั้งพันธุ์เรดเลดี้และพันธุ์ฮอลแลนด์
ซึ่งได้ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ SDGsPGS ประเภทการรับรองอินทรีย์
(Organic) ปีที่ 1 ไม่สามารถส่งมะละกอไปจำหน่ายตามจังหวัดต่างๆ
เหมือนที่ผ่านมาได้ จนทำให้ผลผลิตล้นตลาด เกษตรกรต้องประสบปัญหาขาดทุน
หลายรายต้องปล่อยให้ผลมะละกอเน่า และต้องปล่อยให้มะละกอยืนต้นตายไปจำนวนหลายราย
นายเอกชัย ชูขำ อายุ
39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 239 หมู่ที่ 8 ต.เกาะเต่า อ.ป่าพะยอม ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะละกอจังหวัดพัทลุง
เปิดเผยว่า กลุ่มเกษตรกรดังกล่าวนี้มีสมาชิก จำนวน 30 คน
มีพื้นที่ปลูกมะละกอพันธุ์เรดเลดี้และพันธุ์ฮอลแลนด์ มากกว่า 200 ไร่
โดยสามารถส่งผลผลิตทางการเกษตรดังกล่าวส่งไปจำหน่ายยังจังหวัดต่างๆ ได้ประมาณสัปดาห์ละ
6 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 25-30 บาท
แต่ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนถึงขณะนี้นั้น
ได้ส่งผลให้ราคามะละกอทั้ง 2 พันธุ์ดังกล่าว ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการส่งจำหน่ายไปยังต่างจังหวัดลดลงเหลือแค่สัปดาห์ละ 500
กิโลกรัมเท่านั้น
ส่วน โรงงานในพื้นที่
อ.ป่าพะยอม ที่เคยรับซื้อมะละกอจากเกษตรกรของกลุ่มฯ มาปอกส่งและดองส่งขายโรงงาน ในราคากิโลกรัมละ
2 บาท และสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่ประมาณ 15-18 คน/วัน นั้น ได้ปฏิเสธการรับซื้อมะละกอของกลุ่มฯ ไปหลายวันแล้ว
เนื่องจากโรงงานใน จ.สุราษฎร์ธานี ชุมพร และสมุทรสาคร ได้ปฏิเสธการรับซื้อ
จนส่งผลให้โรงงานดังกล่าวที่สามารถดองมะละกอเพื่อรอการจำหน่ายประมาณ 8 ตัน
จึงต้องปฏิเสธการรับซื้อมะละกอจากกลุ่มฯ ทำให้เกษตรกรต้องปล่อยให้ผลมะละกอเน่า
และยืนต้นตายไปจำนวนหลายราย จนนำไปสู่ความเดือดร้อนดังกล่าว เนื่องจากการลงทุนการปลูกมะละกออินทรีย์ของทั้ง
2 พันธุ์นั้น ต้องลงทุนสูงถึงประมาณ 50,000 บาท/ไร่
และผู้สนใจรายใดที่จะสั่งซื้อมะละกอของกลุ่มซึ่งเป็นมะละกอ “ออแกนิค”
สามารถสอบถามรายละเอียดและสั่งซื้อได้ที่ โทร.081-9692863
สำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าวเบื้องต้นนั้น
ทาง พ.อ.พิชิต โชติแก้ว รอง ผอ.รมน.จังหวัดพัทลุง และ นายบรมัตถ์พงษ์ พลเยี่ยม
พาณิชย์จังหวัดพัทลุง จะขอความช่วยเหลือไปยังอำเภอต่างๆ สถานศึกษา โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ
ห้างสรรพสินค้า หน่วยงานรัฐทุกแห่ง ฯลฯ ให้มาร่วมกันรับซื้อมะละกอของกลุ่มฯ พร้อมทั้งนำปัญหาดังกล่าว และแนวทางการแก้ปัญหาในระยะต้น รายงานให้ นายกู้เกียรติ
วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง ได้รับทราบต่อไป โดยทราบว่า นายกู้เกียรติ
จะเร่งจัดประชุมร่วมกันกับหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธกส.
สมาคมร้านอาหาร หอการค้า สมาคมโรงแรม สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา ฯลฯ
เพื่อเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรดังกล่าวในวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหามะละกอราคาตกต่ำของจังหวัดพัทลุงในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดนั้น ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด เนื่องจากพื้นที่จังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่ปลูกมะละกอแหล่งใหญ่ของภาคใต้ โดยพื้นที่ที่ปลูกมากที่สุดได้แก่ อ.ป่าบอน ตะโหมด เขาชัยสน ป่าพะยอม ควนขนุน เมืองพัทลุง ศรีบรรพต บางแก้ว ศรีนครินทร์ กงหรา และ ศรีนครินทร์ ตามลำดับ จนมีการเรียกร้องให้มีการจัด “เทศกาลการกินมะละกอ“ ของจังหวัดพัทลุง เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผลผลิตของมะละกอของจังหวัดพัทลุงให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น.