สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ย้ำเตือนผู้ปกครองดูแลเอาใจใส่บุตรหลานอย่างใกล้ชิดในช่วงปิดภาคเรียน อย่าปล่อยให้ได้เล่นน้ำตามลำพัง หรือรวมตัวกันเล่นน้ำตามแหล่งธรรมชาติ เพื่อลดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เสี่ยงจมน้ำเสียชีวิตได้
นพ.เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา(สคร.12 สงขลา) กล่าวว่า การจมน้ำของเด็กมักเป็นอุบัติเหตุที่ผู้ปกครองคาดไม่ถึง ประกอบกับในขณะนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อน และเป็นช่วงปิดเทอมยาวกว่าปกติ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันเด็กจมน้ำ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นั้น สคร.12 สงขลา มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว ขอกำชับผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยให้เด็กชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรืออ่างเก็บ น้ำ เพราะนอกจากจะเสี่ยงติด COVID-19 จากการรวมตัวกันของเด็กๆแล้ว ยังเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจมน้ำ เสียชีวิตได้
จากข้อมูลกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข แสดงจำนวนและอัตราการเสียชีวิตต่อ ประชากรแสนคน จากการตกน้ำ จมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี พ.ศ. 2562 ในเขตสุขภาพที่ 12 พบว่า มี ผู้เสียชีวิตจำนวน 67 ราย จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี สูงสุด ได้แก่ จังหวัดปัตตานี รองลงมาเป็นยะลา นราธิวาส พัทลุง สงขลา สตูล และตรัง อัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 10.7, 9.4, 6.9, 5.4, 3.9, 2.7 และ 1.6 ต่อประชากรเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีแสนคน ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังพบว่า เดือนมีนาคมเป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด รองลงมาคือ เมษายนและพฤษภาคม โดยเพศชายจมน้ำมากกว่าเพศหญิงเกือบ 2 เท่าตัว สาเหตุการจมน้ำของเด็กส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยส่วนบุคคลด้านพฤติกรรมของเด็ก พฤติกรรมเล่นน้ำที่ไม่ปลอดภัย เช่น น้ำลึก น้ำเชี่ยว พบว่า ส่วนใหญ่เด็กว่ายน้ำไม่เป็น ร้อยละ 92.50 และการไม่สวมชูชีพขณะเล่นน้ำ ทำกิจกรรมทางน้ำ ร้อยละ 100 และส่วนใหญ่แล้วไม่มีอุปกรณ์ในการช่วยเหลือความปลอดภัย และไม่มีการจัดการแหล่งน้ำให้มีความปลอดภัย
น.พ.เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สคร.12 สงขลา ร่วมรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ภายใต้ แนวคิด “เอาชีวิตรอดได้ ช่วยเป็น พื้นที่เล่นปลอดภัย เด็กไม่จมน้ำ” ดังนี้ 1.เอาชีวิตรอดได้ คือเมื่อตกน้ำ อย่าตกใจ ตั้งสติ ลอยตัวเปล่าหรือลอยตัวโดยใช้อุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้เพื่อรอคนมาช่วย 2.ช่วยเป็น คือช่วยให้ถูกวิธี ไม่กระโดดลงไปช่วย แต่ให้ช่วยด้วยวิธีที่ปลอดภัยคือ“ตะโกน โยน ยื่น” และ 3.พื้นที่เล่นปลอดภัย คือครอบครัว ชุมชน และผู้ประกอบการ ร่วมกันจัดพื้นที่เล่นและพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัยให้แก่เด็กแต่ละวัย ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค.