“หาดใหญ่โพล” สำรวจเปิดเมือง-เปิดธุรกิจ พลิกฟื้นจังหวัดสงขลา
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, สงขลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 20 พ.ค. 2563, 15:09 น. อ่าน : 3,212เผยผลการสำรวจ “หาดใหญ่โพล” เรื่อง “ความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดสงขลาต่อการเปิดเมือง - เปิดธุรกิจ” โดยการเก็บแบบสำรวจออนไลน์ ส่วนใหญ่ 46.88% มั่นใจในความพร้อมเปิดเมือง ต้องการให้เปิดเมือง เปิดธุรกิจ เพื่อให้คนได้ทำงานและมีรายได้ประทังชีวิต พร้อมรับวิถีชีวิตใหม่ให้สอดคล้องกับการป้องกัน โควิด-19
รองศาสตราจารย์ ทัศนีย์ ประธาน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจ “หาดใหญ่โพล” เรื่อง “ความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดสงขลาต่อการเปิดเมือง - เปิดธุรกิจ” โดยการเก็บแบบสำรวจออนไลน์ จำนวน 480 คน ระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2563 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
สถานภาพและข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็น เพศหญิง (ร้อยละ 56.04) อายุอยู่ในช่วง 41-50 ปี (ร้อยละ 28.75)
รองลงมา ช่วงอายุ 51-60 ปี (ร้อยละ 25.00) และ ช่วงอายุ 31-40 ปี (ร้อยละ 17.71) ตามลำดับ
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย (ร้อยละ 25.42) รองลงมา รับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทเอกชน และ รับจ้าง คิดเป็นร้อยละ 22.71, 21.25 และ 12.29 ตามลำดับ
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.12 ได้รับผลกระทบต่ออาชีพและรายได้จากการปิดเมือง โดยประชาชน ร้อยละ 37.71 มีรายได้ลดลงจากเดิมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และไม่สามารถประกอบอาชีพได้/ขาดรายได้/ถูกเลิกจ้าง (ร้อยละ 16.88) มีเพียงร้อยละ 21.88 ที่ไม่ได้รับผลกระทบต่ออาชีพ การทำงานและรายได้จากสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.25 รับรู้ข่าวสารสถานการณ์โควิด-19 ผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น Line, Facebook มากที่สุด รองลงมา ผ่านโทรทัศน์และเว็บไซต์ คิดเป็นร้อยละ 34.38 และ 7.29 ตามลำดับ
สรุปผลการสำรวจ
1. ความมั่นใจของประชาชนและความคิดเห็นต่อการเปิดเมือง - เปิดธุรกิจ ในจังหวัดสงขลา
ความมั่นใจ ความพร้อม ในการเปิดให้บริการของสถานประกอบการในจังหวัดสงขลาพบว่า ประชาชนชาวสงขลาร้อยละ 46.88 มีความมั่นใจต่อความพร้อมในการเปิดให้บริการของสถานประกอบการในจังหวัดสงขลาในระดับปานกลาง และ ร้อยละ 26.67 มีความมั่นใจต่อความพร้อมในการเปิดให้บริการของสถานประกอบการในจังหวัดสงขลาในระดับมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 26.46 ที่ไม่มีความมั่นใจต่อความพร้อมในการเปิดให้บริการ
ส่วน ประเภทของสถานประกอบการที่ควรเปิดให้บริการโดยเร็วที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้านอาหาร (ร้อยละ 76.83) รองลงมา ร้านค้าปลีกทั่วไป เช่น ร้านขายเสื้อผ้า ร้านหนังสือ (ร้อยละ 48.43) และ สถานศึกษา (ร้อยละ 43.63)
นอกจากนี้ ยังให้ข้อเสนอแนะในมาตรการที่จะทำให้เกิดความมั่นใจในการเปิดเมืองและเปิดธุรกิจในจังหวัดสงขลา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.96 ต้องการให้สถานประกอบการมีการทำความสะอาด ฆ่าเชื้ออุปกรณ์และสถานที่ให้บริการอยู่ทุกวัน จะทำให้เกิดความมั่นใจมาก รองลงมา เป็นสถานประกอบการมีมาตรการในการจัดระยะห่างทางสังคมในการให้บริการได้ และมีบทลงโทษหรือสั่งปิดสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยเบื้องต้นของรัฐ เช่น พนักงานไม่สวมหน้ากาก หรือ Face Shield คิดเป็น ร้อยละ 68.75 และ 59.17 ตามลำดับ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนว่าควรเปิดเมือง - เปิดธุรกิจเมื่อไรนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.67 เห็นว่า ควรจะเปิดเมืองสงขลา
- เปิดธุรกิจ เมื่อมีระบบและมาตรการดูแลประชาชนและสถานประกอบการอย่างชัดเจนในการก่อนเปิดให้บริการ รองลงมา เปิดเมื่อไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดในจังหวัดสงขลาติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า
14 วัน และ เปิดเมื่อประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 14
วัน คิดเป็น ร้อยละ 17.92 และ 16.88 ตามลำดับมีเพียง ร้อยละ 11.46 ที่เห็นว่าสามารถเปิดเมืองได้ทันที
สำหรับข้อเสนอต่อจังหวัดสงขลา เกี่ยวกับมาตรการจัดการสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ของชาวจังหวัดสงขลาให้ข้อเสนอแนะดังนี้ ร้อยละ 90.00
เห็นว่าควรมีระบบการตรวจคัดกรองและกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศผ่านด่านชายแดนให้รัดกุมมากที่สุด
รองลงมา คือ มีแผนฟื้นฟูเมืองและธุรกิจหลังสถานการณ์โควิด-19
คลี่คลายลงอย่างเป็นรูปธรรม และเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร
ดูแลมิให้มีคนข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ คิดเป็นร้อยละ 61.46 และ 60.83 ตามลำดับ
ในด้านขนส่งสาธารณะชาวสงขลา ส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.38 เห็นว่าควรควรมีมาตรการเกี่ยวกับการให้บริการขนส่งสาธารณะ ทำความสะอาดรถและฆ่าเชื้อในรถทุกครั้ง/ทุกเที่ยว มากที่สุด รองลงมา กำหนดมาตรฐานจำนวนผู้โดยสารที่เหมาะกับขนาดของรถที่ไม่เกิดความเสี่ยง โดยไม่ขึ้นราคาและมีการบันทึกข้อมูลผู้โดยสารเท่าที่จำเป็น เพื่อสามารถติดตามผู้มีความเสี่ยงย้อนหลังได้ คิดเป็นร้อยละ 76.67 และ 51.04 ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังให้ข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของภาครัฐ โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.16 เห็นด้วย ที่ภาครัฐจะบังคับให้ประชาชนติดตั้งแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์ เช่น App หมอชนะ เพื่อให้มีข้อมูลของคนที่เข้าใช้บริการสถานที่ต่างๆ และช่วยป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยร้อยละ 61.04 มีเงื่อนไขว่าภาครัฐจะไม่นำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางที่ผิด มีเพียงร้อยละ 15.84 ไม่เห็นด้วย ที่ภาครัฐจะบังคับให้ประชาชนติดตั้งแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์
2. มุมมองชีวิตของประชาชนหลังสถานการณ์โควิด-19
ชาวสงขลา ร้อยละ 46.46 เห็นว่าเมื่อเหตุการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ร้อยละ 20.21 ไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต และ ร้อยละ 33.33 ยังไม่แน่ใจ
ส่วนของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.36 เห็นว่า ต้องมีการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดรับกับวิกฤตโควิด-19 มีเพียง ร้อยละ 15.07 ที่จะไม่เปลี่ยนแปลงธุรกิจหลังเหตุการณ์โควิด-19 และ ร้อยละ 21.57 ยังไม่แน่ใจ
นอกจากนี้สิ่งที่ชาวสงขลาต้องการทำเป็นอันดับแรกหลังเหตุการณ์โควิด-19
พบว่า ร้อยละ 52.29 ต้องการใช้ชีวิตตามปกติมากที่สุด รองลงมา เป็นการตรวจสุขภาพ นัดพบญาติหรือเพื่อนฝูงที่ไม่ได้พบกันนาน เดินทาง-ท่องเที่ยวต่างจังหวัด และท่องเที่ยวภายในจังหวัดสงขลา คิดเป็นร้อยละ 12.08, 9.17, 8.75 และ 7.29 ตามลำดับ
สำหรับมุมมองของประชาชนในด้านข้อดีของเหตุการณ์โควิด-19 คนสงขลาส่วนใหญ่ ได้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น ในเหตุการณ์โควิด-19 มากที่สุด (ร้อยละ 55.20) รองลงมา ลดการใช้พลังงานและทรัพยากร ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เป็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง เช่น เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และมีเวลาได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 53.34, 52.29 และ 50.63 ตามลำดับ.