ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.กระบี่ รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2564 การผ่าตัดทำคลอดให้ผู้ป่วยติดเขื้อโควิด-19 สำเร็จปลอดภัยทั้งแม่และลูกนี้ มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Jiravan Phaipana” ได้โพสต์ภาพ และคลิปเรื่องราวที่สุดประทับใจ เป็นภาพและคลิปขณะทีมแพทย์พยาบาล กำลังนำหญิงสาวรายหนึ่งที่ป่วยโควิด-19 ออกมาจากห้องผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย ท่ามกลางการแสดงความยินดี พร้อมข้อความระบุว่า “ภารกิจวันนี้ สำเร็จ ลุล่วงผ่านไปด้วยดีค่ะ ผู้ป่วยโควิด-19 ผ่าตัดทำคลอดเคสแรก ของประวัติศาสตร์ รพ.กระบี่ #บันทึกในความทรงจำ เผื่อแจ้งเตือน ในวัยเกษียณ #ขอบคุณในความเป็นทีมเวิร์คครั้งยิ่งใหญ่ค่ะ” และโพสต์ภาพของบุคลากรทางการแพทย์ ก่อนการผ่าตัดที่ต้องเตรียมตัวอย่างไร
หลังจากที่ได้โพสต์เรื่องราวดังกล่าวออกไป ปรากฏว่ามีเพื่อนๆ และชาวโซเซียล ต่างเข้ามาแสดงความชื่นชมให้กำลังใจ แสดงความยินดีกันเป็นจำนวนมาก ที่สามารถผ่าคลอดผู้ป่วยโควิด-19 ได้สำเร็จ นับเป็นรายแรกของ จ.กระบี่
ผู้สื่อข่าวสอบถาม ไปยัง น.ส.จิราวรรณ ไพพะนา เจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าว และเป็นพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ตึกผู้ป่วยใน รพ.กระบี่ เจ้าตัวเผยว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายนี้เป็นผู้หญิง อายุ 33 ปี อายุครรภ์ 39 สัปดาห์ ได้เข้ามารักษาตัวที่ รพ.เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา และผู้ป่วยมีอาการปวดท้องคลอด ทางสูตินรีแพทย์ประเมินว่ามีความจำเป็นต้องผ่าตัด และตัดสินใจนำผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด เมื่อวันที่ 7.พ.ค. ซึ่งมีการวางแผนซักซ้อมเป็นอย่างดี เพราะต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยทั้งแม่และเด็ก ทีมแพทย์และพยาบาลใช้เวลาในห้องผ่าตัดนาน 30 นาที ก็ทำการผ่าคลอดสำเร็จ เด็กที่ผ่าตัดคลอดออกมาเป็นเด็กทารกเพศหญิง สภาพร่างกายสมบูรณ์ จากนั้นผู้ป่วยก็อยู่ที่ห้องพักฟื้น 30 นาที ก่อนพากลับไปยังหอผู้ป่วย เบื้องต้นคนไข้ไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ
น.ส.จิราวรรณ กล่าวต่อว่า การผ่าคลอดและดูแลต่อ ต้องใช้บุคลากรถึง 15 คน ในห้องผ่าตัด 5 คน ประกอบด้วยหมอผ่าตัด 1 คน พยาบาลช่วยส่งเครื่องมือ 1 คน วิสัญญี 1 คน พยาบาลผู้ช่วยดมยา 2 คน นอกจากนั้นยังมีทีมรับเด็กไปตึกหลังคลอด 3 คน หมอเด็กอีก 1 คน พยาบาลเด็ก 2 คน ทีมเปล 3 คน และทีมพยาบาลดูแลอีก 3 คน ยอมรับว่ารู้สึกภูมิใจมากที่ได้มีส่วนร่วมในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของกระบี่ แม้จะต้องมีความกดดันบ้าง แต่ก็ได้มีการซ้อมเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องความปลอดภัยของบุคลากร รวมทั้งแม่และเด็ก จนสำเร็จปลอดภัย แต่ก็พร้อมใจในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงเพียงใด แต่ด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ พร้อมที่จะช่วยเหลือคนป่วย คนไข้ ทุกรายแน่นอน และขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนด้วย.