ซีพีเอฟ ชูโมเดลความสำเร็จ พาชุมชนฝ่าวิกฤตโควิด-19
หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ทั่วไป, กรุงเทพฯ, ภาคกลาง,
โฟสเมื่อ : 3 ก.พ. 2564, 13:23 น. อ่าน : 3,844 ชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง
อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี สร้างแหล่งอาหารที่ยั่งยืน พึ่งพาตนเอง ฝ่าวิกฤติโควิด-19
สานต่อโครงการปลูกผักตามวิถีธรรมชาติและโครงการปล่อยปลาลงเขื่อน โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท
เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ
ตั้งกองทุนหมุนเวียนของชุมชนหนุนความยั่งยืนของโครงการ
นายสุธี
สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟดำเนินโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุขชุมชนพื้นที่เขาพระยาเดินธง
อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
โดยส่งเสริมชุมชนที่อาศัยรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง ทำโครงการปลูกผักตามวิถีธรรมชาติ
(ระยะเวลาดำเนินโครงการ ปี 2562-2566)
และโครงการปล่อยปลาลงเขื่อน (ระยะเวลาดำเนินโครงการ ปี 2563-2566) ซึ่งทั้งสองโครงการเป็นการสร้างแหล่งอาหารในระดับชุมชน
โดยซีพีเอฟใช้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ พร้อมทั้งสนับสนุนการตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อให้ชุมชนสามารถดำเนินโครงการได้อย่างยั่งยืน
โดยเฉพาะในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทั้งโครงการปลูกผักวิถีธรรมชาติและโครงการปล่อยปลาลงเขื่อน เป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยของชุมชน และจะเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ
ต่อไป
นายประทีป อ่อนสลุง
ชาวบ้านตำบลโคกสลุง ในฐานะผู้ประสานงานหลักของโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปลูกผักตามวิถีธรรมชาติ กล่าวว่า
ในช่วงของการดำเนินโครงการปลูกผักตามวิถีธรรมชาติ ระยะที่หนึ่ง (ปี 2562-2563)
สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการครอบคลุม 7 หมู่บ้าน
มีผลผลิตผักเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้ครัวเรือนมีรายได้จากการจำหน่ายผักเพิ่มขึ้นตามไปด้วยสำหรับครัวเรือนที่ปลูกผักไว้บริโภคเองสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้
โดยในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 รอบแรก ต้นปี 2563
และการระบาดรอบใหม่ ชุมชนไม่ได้รับผลกระทบเรื่องอาหารเพราะมีผลผลิตที่สะอาดและปลอดภัยเพียงพอบริโภค
ปี 2564 เข้าสู่ระยะที่สองของโครงการ มีแผนขยายจำนวนสมาชิก
เพิ่มปริมาณผลผลิตผัก
เพิ่มชนิดและจำนวนเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับจากสมาชิกเพื่อส่งเข้าธนาคารเมล็ดพันธุ์ตามวิถีภูมิปัญญาชุมชน
จากปัจจุบันที่มีชนิดของเมล็ดพันธุ์ ที่ได้รับจากสมาชิก 45
ชนิด อาทิ มะเขือยาวม่วงพราว มะเขือไข่เต่า มะเขือหยดน้ำทิพย์ มะเขือคางกบ มะเขือเทศสีดา ถั่วฝักยาวแดง ถั่วฝักยาวสีม่วง
กระเจี๊ยบมณีแม่โจ้ เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านที่ปลอดสารไว้ขยายพันธุ์และกระจายไปยังชุมชนอื่นๆ
โดยในอนาคตธนาคารเมล็ดพันธุ์จะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย
ด้าน นายกีรติศักดิ์
สุวรรณธนะกรณ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 โคกสลุง
ในฐานะประธานโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปล่อยปลาลงเขื่อน เปิดเผยว่า โครงการปล่อยปลาลงเขื่อนเป็นโครงการที่ซีพีเอฟสนับสนุนการเรียนรู้และอุปกรณ์การเพาะพันธุ์ปลา
พร้อมกับนำประสบการณ์จากการดำเนินธุรกิจมาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ปลาให้สมาชิกของโครงการฯ
รวมทั้งการอนุบาลปลาก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำเพื่อเพิ่มอัตรารอดของปลา ทำให้มีปริมาณปลาเพิ่มขึ้น ชาวบ้านที่ทำประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นสมาชิกของโครงการ
มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายปลา จากเดิมที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 7,000-9,000 บาท มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 3,000-4,000 บาท
ชุมชนในพื้นที่เองได้ประโยชน์จากการมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโควิด-19
โครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ชุมชนพื้นที่เขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เป็นโครงการที่ซีพีเอฟสร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วมกับชุมชนและสร้างแหล่งอาหารที่ยั่งยืนของชุมชน ต่อยอดจากการดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ซึ่งในปี 2564-2568 เข้าสู่ระยะที่สองของโครงการ มีเป้าหมายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าพื้นที่เขาพระยาเดินธงรวม 7,000 ไร่.