ตรวจพบแหล่งลงทุนจากการทุจริตสหกรณ์ ตร. พัทลุง 5 แห่ง
หมวดหมู่ : พัทลุง, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 18 เม.ย. 2565, 09:00 น. อ่าน : 978พัทลุง-พนักงานสอบสวนชุดคลี่คลายสหกรณ์ฯของ สตช. ถอนกำลังไปคลี่คลายคดี “ มังกรฟ้า “ ส่วนการขยายผลการสอบสวน พบแหล่งลงทุนจากการทุจริตสหกรณ์ประมาณ 5 แห่ง ด้านอดีตข้าราชการเรียกร้องให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ปรับบทบาทและหน้าที่กันใหม่
กรณีการทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง จำกัด วงเงินไม่น้อยกว่า 1,450 ล้านบาท ที่ทำกันเป็นขบวนการ จนผู้เกี่ยวข้องแนะนำให้มีการ “Set zero“ แต่เรื่องดังกล่าวยังมีปัญหาและอุปสรรคกันหลายด้าน ส่วนกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่จะถูกออกหมายจับหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 50 รายนั้น จะถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีแพ่งทุกรายทางด้านผู้ต้องหาบางรายไม่กล้าระบุชื่อของผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่น่าจะอยู่เบื้องหลังในการทุจริตสหกรณ์ฯ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน บางคนเผยว่าจำต้องยอมติดคุกเพื่อเอาชีวิตรอด ตามข่าวที่เสนอมาต่อเนื่องนั้น
ทีมข่าวไทยแหลมทองซึ่งทำงานร่วมกับทีมข่าวเฉพาะกิจหนังสือพิมพ์ส่วนกลางรายงานว่า หลังจากที่ทางด้าน พล.ต.ต.ไพโรจน์ กุจิระพันธ์ ผบก.อธ. พล.ต.ต.ตานิตย์ รามดิษฐ์ ผบก.ภ.จว. พัทลุง และ พ.ต.อ.วรชาติ รสจันทน์หัวหน้าชุดสอบสวนของ ภ.จว.พัทลุง และ พ.ต.อ.ประสิทธิ์ ปานดำ ผกก.กลุ่มงานสอบสวน ภ.9 และคณะ ได้ร่วมกันประชุมปรึกษาหารือ กลั่นกรอง บุคคลผู้ต้องสงสัยที่จะถูกยื่นของอนุมัติหมายจับ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเสร็จสิ้นลง ทางด้าน พล.ต.ต. ไพโรจน์ กุจิระพันธ์ ผบก.อธ. ได้นำพนักงานสอบสวนของ สตช.ส่วนใหญ่ไปคลี่คลายคดีหวย “มังกรฟ้า “ ที่จังหวัดปทุมธานี
จากนั้นหลังเทศกาลสงกรานต์ หากทางพนักงานสอบสวนฯ ได้รับหลักฐานสำคัญทางธุรกรรมการเงินจากธนาคารแห่งหนึ่ง และหลักฐานการตรวจข้อมูลจราจรทางระบบคอมพิวเตอร์จากศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ยะลาพล.ต.ต.ไพโรจน์ ฯจะนำกำลังชุดดังกล่าวกลับมายัง จ.พัทลุง เพื่อร่วมกันยื่นขออนุมัติหมายจับกลุ่มผู้ต้องหาต่อไป ซึ่งในการยื่นขอหมายจับในครั้งนี้น่าจะมี จนท.รัฐบางรายที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์น่าจะตกเป็นผู้ต้องหาด้วย
เกี่ยวกับกรณีนี้อดีตข้าราชการเกษียณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายหนึ่ง เปิดเผยว่า ตนรู้สึกเห็นใจกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่จะถูกออกหมายจับในเร็วๆนี้ บางรายขาดองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านสหกรณ์ จนนำไปสู่การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บกพร่อง และ ประมาทเลินเล่อ รวมทั้งรู้ไม่เท่าทันเล่ห์กลของผู้ทุจริตบางรายแต่ระเบียบกฎหมายก็ต้องว่าไปการตามกระบวนการโดยไม่สามารถยกเว้นผู้ที่สร้างความเสียหายให้กับสหกรณ์ได้
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตของสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท ประมาณ 8,000 แห่งของประเทศไทยนั้นประกอบด้วย 1.สหกรณ์แต่ละแห่งจะต้องเลือกผู้มีองค์ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ มาเป็นคณะบริหารสหกรณ์ฯ 2.กรมส่งเสริมสหกรณ์จะต้องปรับเปลี่ยน เพิ่มบทบาทในการส่งเสริม แนะนำ สหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม และ 3.หากพบว่ามีการทุจริตขึ้นในสหกรณ์ผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์น่าจะต้องรับผิดชอบในการมีส่วนร่วมในการชดใช้ค่าเสียหายและจะต้องถูกแจ้งความดำเนินคดี รวมทั้งยึดใบอนุญาตการประกอบการเช่นกัน เนื่องจากการทุจริตในสหกรณ์ที่ผ่านมานั้นมีผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์บางรายมีส่วนรู้เห็นด้วย
ทางด้านพนักงานสอบสวนในคดีนี้รายหนึ่ง เปิดกับผู้สื่อข่าวว่า จากการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันของพนักงานสอบสวนและ จนท.สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพัทลุงในการสืบทรัพย์ที่ได้มาของการทุจริตสหกรณ์ฯ เบื้องต้นพบว่ามีทรัพย์สินดังกล่าวทั้งในและต่างจังหวัดประมาณ 5 แห่ง ส่วนกรณีมีกระแสข่าวว่ากลุ่มผู้ต้องสงสัยบางรายจะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน เงินสด ก่อนที่จะถูกออกหมายจับในคดีอาญาและคดีแพ่งนั้น หากกระแสข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องจริงเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกฟ้องคดีแพ่งนั้นมีขั้นตอน กระบวนการ ในการสำรวจและตรวจสอบอย่างละเอียด ข่าวคืบหน้าจะเสนอต่อไป.